แนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง กรณีเรียกเก็บคืน “ยาวาลซาร์แทน (Valsartan)” หลังพบสารก่อมะเร็งในวัตถุดิบ

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เผยแพร่ข่าว การเรียกเก็บคืนผลิตภัณฑ์ยาวาลซาร์แทน (Valsartan) จำนวน 5 ตำรับ ของบริษัท สีลมการแพทย์ จำกัด และบริษัท ยูนีซัน จำกัด ต่อไปนี้

บริษัทผู้รับอนุญาต ชื่อการค้า เลขทะเบียนตำรับ
บริษัท สีลมการแพทย์ จำกัด VALATAN 80 1A 9/54 (NG)
VALATAN 160 1A 10/54 (NG)
บริษัท ยูนีซัน จำกัด VALSARIN 80 1A 4/60 (NG)
VALSARIN 160 1A 5/60 (NG)
VALSARIN 320 1A 6/60 (NG)

หมายเหตุ: กดที่ชื่อการค้าของยา เพื่อดูรายละเอียดการเรียกเก็บคืนยาแต่ละรายการ

เนื่องจากมีการใช้วัตถุดิบในการผลิตยาดังกล่าวของโรงงาน Zhejiang Huahai Pharmaceuticals ซึ่งได้รับแจ้งการตรวจพบสารปนเปื้อนที่อาจก่อมะเร็ง และมีการเรียกเก็บคืนผลิตภัณฑ์ยาวาลซาร์แทน (Valsartan) ของบริษัทต่างๆ ที่ใช้วัตถุดิบในการผลิตยาจากแหล่งดังกล่าว ในหลายประเทศแล้วเช่นกัน นั้น

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้แจ้ง คำแนะนำสำหรับผู้ใช้ยาที่มียาตำรับดังกล่าวข้างต้นที่มีการเรียกเก็บคืน  รวมทั้งคำแนะนำสำหรับ แพทย์ คลินิก ร้านยา

คำแนะนำในการปฏิบัติสำหรับผู้ใช้ยาที่มียาตำรับดังกล่าวข้างต้นที่มีการเรียกเก็บคืน

  1. นำยาไปเปลี่ยน ณ โรงพยาบาล คลินิก หรือสถานพยาบาลที่ได้รับการจ่ายยา
  2. หากยังไม่สามารถไปเปลี่ยนยาได้ในระยะนี ขออย่าได้หยุดการใช้ยา เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยาวาลซาร์แทน (กลุ่ม Angiotensin II Receptor Blocker: ARB) เป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสารปนเปื้อนที่พบในผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าว จากการศึกษาข้อมูลความปลอดภัยย้อนหลัง ยังไม่พบว่า ผู้ป่วยมีประเด็นการเกิดมะเร็งจากยานี้ที่ใช้วัตถุดิบจากจีน
  3. ผู้ป่วยที่เคยได้รับผลิตภัณฑ์ยาวาลซาร์แทนในการรักษามาอย่างต่อเนื่อง ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงตัวอื่น โดยยังคงสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ยาวาลซาร์แทน เลขทะเบียนตำรับอื่นที่ไม่มีการปนเปื้อนได้
    ทั้งนี้ ทะเบียนที่มีตัวยาสำคัญวาลซาร์แทน ที่ยังสามารถใช้ได้อยู่ ปัจจุบันรวมทุกความแรงมีจำนวน 38 ทะเบียนตำรับ แบ่งเป็นของผู้นำเข้า 31 ตำรับ และของผู้ผลิตในไทย 7 ตำรับ
  4. สามารถใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ในยายี่ห้ออื่นที่ไม่ใช่ใน 5 ตำรับดังกล่าว

คำแนะนำในการปฏิบัติสำหรับ แพทย์ คลินิก ร้านยา 

  1. ตรวจสอบยา เพื่อคืนยาให้แก่บริษัท นำไปทำลายต่อไป
  2. ตรวจสอบรายชื่อคนไข้ที่จ่ายยา และรีบติดต่อให้มาเปลี่ยนยา

ขอเชิญผู้เกี่ยวข้อง/ผู้สนใจติดตามรายละเอียด/ download เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ข้างต้น ได้จากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (www.fda.moph.go.th) หรือกดที่ link ต่อไปนี้
ข่าวประชาสัมพันธ์
กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
วันที่ 16 กรกฎาคม 2561

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *